บทความ เรื่อง : สิ่งมัวเมาเด็กยุคใหม่เลิกติดยา มาบ้า 'ติดเกม'
   


บทความเลขที่ 139
คนสร้างบทความ :
นายหิว
วันที่ตั้งบทความ :
2004-02-21
คะแนนบทความ :
1284(เฉพาะเดือนนี้ )
จำนวนคนอ่าน :
3879(เฉพาะเดือนนี้ )
   


สิ่งมัวเมาเด็กยุคใหม่เลิกติดยา มาบ้า 'ติดเกม'

------------------------------------------------------------------------------------------------
สิ่งมัวเมาเด็กยุคใหม่เลิกติดยา มาบ้า 'ติดเกม'
manager



เล่นเกมสนุกสนานเพลิดเพลินสำหรับเด็กถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่เล่นจนเมินข้าวปลา และกิจกรรมพัฒนาร่างกาย ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง !! “เกม” คำๆ นี้ดูไม่น่าจะมีอะไร เพราะความหมายก็บอกอยู่แล้วว่ามันเป็นแค่เกม แต่เพราะเกมนี่แหละที่ทำให้เด็กหลายคนแทบจะทิ้งอนาคตและชีวิตไว้กับมัน

ในโลกปัจจุบันที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเจริญก้าวไกลแบบไม่หยุดยั้ง รูปแบบของสื่อต่างๆ ก็ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยไปด้วย “เกม” ก็มีพัฒนาการเช่นกัน ในอดีตอาจมีแค่เกมกด หรือวีดีโอเกม แต่ปัจจุบันมีเกมให้เด็กเลือกเล่นมากมาย ทั้งเกมคอมพิวเตอร์ เกมเพลย์สเตชั่น และเกมออนไลน์

ไม่เพียงภาพ เสียง สีสัน และตัวละครในเกมที่โลดแล่นอยู่หน้าจออย่างสมจริงสมจังเท่านั้น แต่เนื้อเรื่องและรูปแบบของการแพ้ชนะก็ถูกพัฒนาให้ชวนติดตามและหลงใหล จนยากที่เด็กๆ จะละมือจากเกมได้

เด็กไทยจำนวนมากจึงใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหน้าทีวี สวมวิญญาณเป็นตัวละครในเกมนานาชนิดวันละหลายชั่วโมง โดยไม่ยอมทำกิจกรรมอื่นๆ ทั้งยังมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ฉุนเฉียวง่ายขึ้น หรือการตัดสินปัญหาด้วยคำว่า “แพ้” กับ “ชนะ” เท่านั้น โดยไม่มีการอะลุ้มอล่วยใดๆ เหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากการเล่นเกมทั้งสิ้น

นอกจากนี้ เด็กยังสามารถหาเกม “เสพ” ได้ง่าย เพราะแทบทุกบ้านจะมีเครื่องเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หากไม่มีเด็กก็ไปใช้บริการในร้านเกมที่ตั้งอยู่ดาษดื่นและมีให้เลือกจนนับไม่ถ้วน

“เด็กติดเกม” จึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น และกลายเป็นปัญหาที่น่าห่วงมากขึ้นทุกวัน




พฤติกรรมของเด็กติดเกมนั้นคือ ไม่ได้เล่นเกมตามธรรมดาทั่วไป แต่มีความต้องการเล่นเกมสูงและทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เล่นเกม ไม่ต่างอะไรกับการติดยาเสพติด จากข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ได้เก็บรวบรวมไว้ พบว่า เด็กติดเกมหลายคนหนีออกจากบ้านเพื่อมาเล่นเกมตามร้านเกม

เด็กเหล่านี้เริ่มแรกจะมีพฤติกรรมใช้เงินเก่ง หายตัวอยู่บ่อยๆ จากนั้นก็จะเริ่มโกหก หนีโรงเรียน ขโมยเงิน ขโมยของไปขาย จนกระทั่งหนีออกจากบ้านเพื่อไปเล่นเกม เมื่อหนีออกไปนานๆ ก็เกิดความกลัวและไม่กล้ากลับบ้าน เนื่องจากกลัวถูกพ่อแม่ทำโทษ จนต้องกลายเป็นเด็กเร่ร่อน หาเงินเล่นเกมด้วยการขอทาน รับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ และเริ่มคบเพื่อนที่โตกว่า หากโชคร้ายก็อาจถูกชักชวนให้ดมกาวและติดยาเสพติดในที่สุด

นายวรเชษฐ เขียวจันทร์ หัวหน้าฝ่ายข้อมูล ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ให้ข้อมูลว่า เด็กที่ติดเกมสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่พ่อแม่ให้การสนับสนุน กลุ่มนี้จะได้รับเงินมาเล่นเกมจากพ่อแม่ ซึ่งบางรายได้มาจำนวนมากก็จะอยู่เล่นเกมแบบมาราธอนข้ามวันข้ามคืนโดยไม่กลับบ้าน เมื่อเงินหมดจึงจะกลับไปเอาเงินสักครั้งหนึ่ง กลุ่มนี้ยังถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง

เพราะเด็กติดเกมอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มที่ไม่มีเงินมาเล่น ก็จะใช้วิธีการทุกอย่างที่จะหาเงินมาเล่นเกม ไม่ว่าจะลักเล็กขโมยน้อย หรือใช้วิธีการผิดกฎหมายก็ยอม ซึ่งกลุ่มหลังนี้จะง่ายต่อการถูกล่อลวงจากแก๊งมิจฉาชีพ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 กลุ่มถือว่าต้องได้รับการแก้ไขและเอาใจใส่จากครอบครัว

“ศูนย์ข้อมูลคนหายฯ ได้รับแจ้งเด็กหายเพราะติดเกม ตั้งแต่เดือน พ.ค.2546 จนถึงเดือน ม.ค. 2547 จำนวน 4 ราย ทั้งหมดเป็นเด็กผู้ชายอายุไม่เกิน 13 ปี มี 2 รายที่กลับบ้านแล้ว อีก 1 รายมีพฤติกรรมหนีออกจากบ้านเป็นประจำ แต่ทั้ง 4รายเคยออกจากบ้านมาแล้ว 1-2 ครั้ง แต่เป็นระยะเวลาแค่ 1-2 คืนแล้วกลับบ้าน เด็กบางคนได้รับเงินจากพ่อแม่ก็นำไปเล่นเกมจนหมด แล้วก็ไปอยู่บ้านเพื่อนเพราะไม่กล้ากลับบ้าน ซึ่งไม่มีใครยืนยันได้ว่า เด็กเหล่านี้จะไม่หนีออกจากบ้านเพื่อไปเล่นเกมอีก”

รายล่าสุดที่ศูนย์ข้อมูลคนหายฯ ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือและยังไม่สามารถติดตามตัวกลับมาได้ คือน้องกอล์ฟ หรือ ด.ช.อนันทร์ ปริยาวงศ์ อายุ 12 ปี หายตัวไปบริเวณห้างบิ๊กซี สะพานใหม่ จากการสอบถามคุณแม่ถึงพฤติกรรมของน้องกอล์ฟ พบว่า เคยหนีออกจากบ้านมาแล้ว 2 ครั้ง ระหว่างนั้นก็จะอาศัยนอนตามร้านเกมหรือโต๊ะสนุ๊กแต่ครั้งนี้หายไปที่นานกว่าทุกครั้ง

ทุกครั้งที่น้องกอล์ฟออกจากบ้านไปและกลับมา ก็จะสัญญากับแม่ว่าจะไม่หนีออกจากบ้านอีก แต่ไม่นานพฤติกรรมการหนีไปอยู่ร้านเกมก็จะกลับมาอีก นอกจากนี้น้องกอล์ฟยังมีนิสัยโมโหง่าย ขี้รำคาญ และชอบพูดโกหก ทุกครั้งที่ไปห้างสรรพสินค้าก็จะหนีไปเล่นเกม และโกหกแม่ว่าไปเข้าห้องน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาเกมคอมพิวเตอร์ถือเป็นที่โปรดปรานของน้องกอล์ฟ แต่ปัจจุบันน้องกอล์ฟชอบเล่นเกมตู้ประเภทหยอดเหรียญตามห้างมากที่สุด

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของเด็กที่ติดเกมจนกระทั่งยอมหนีออกจากบ้าน ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวว่าจะเกิดกับน้องกอล์ฟคือการถูกล่อลวงจากแก๊งมิจฉาชีพ หรือถูกชักชวนให้เสพสิ่งเสพติด และชักนำให้ทำสิ่งผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ยังพบว่า เจ้าของร้านเกมบางแห่งว่าจ้างให้เด็กเล่นเกม โดยเฉพาะเกมออนไลน์ที่มีการเก็บคะแนน เก็บอาวุธต่างๆ เช่น แร็กนาร็อก เพื่อให้ตัวละครไต่ระดับขึ้นไปอยู่ในชั้นสูงและมีอาวุธจำนวนมาก จากนั้นจะนำอาวุธและตัวละครในเกมออกมาซื้อขายด้วยเงินจริงๆ

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย สว.กทม. กล่าวว่า โรคติดเกม ถือเป็นโรคใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยี สาเหตุที่ทำให้เด็กติดเกม เพราะเกมสามารถตอบสนองความต้องการของเด็กได้ 3 เรื่อง คือ 1.ความท้าทายและต้องการเอาชนะ 2.การพนันขันต่อ และ 3.สนองความรุนแรงในตัวเด็ก ทำให้เด็กหลายคนลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับเกมและเป็นโรคติดเกมในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หากครอบครัวไม่มีแรงกระทบ เช่น ครอบครัวมีความอบอุ่น พ่อแม่เข้าใจลูก อาการติดเกมของเด็กจะแก้ไขได้โดยพ่อแม่ต้องชักจูงลูกออกไปทำกิจกรรมอื่นบ้าง เมื่อเด็กมีกิจกรรมอื่นทำ ก็จะทำให้อาการติดเกมทุเลาลง

“การเล่นเกมนานเกินไปมีผลเสียหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านพฤติกรรม ที่ทำให้เด็กก้าวร้าว ใช้ความรุนแรงมากขึ้น หรือผลทางกายภาพ เช่น สายตาเสีย สุขภาพเสียเพราะร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว และเด็กที่เล่นเกมมากๆ มักจะมีปัญหาเรื่องการเรียนรู้ ขาดการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก เพราะส่วนใหญ่อยู่ในโลกตัวคนเดียวที่มีแต่ตัวเองกับเกมเท่านั้น”

ครูหยุย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันร้านเกมไม่ได้ถูกประกาศให้เป็นสถานบริการที่ต้องปิดเปิดเป็นเวลา ทั้งที่ควรจะมีระเบียบข้อบังคับควบคุมการเล่นเกมของเด็ก เช่น กำหนดช่วงเวลาว่าเปิด และห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าเล่น รวมทั้งห้ามแพร่ภาพลามกอนาจาร เป็นต้น หากร้านเกมหรือร้านอินเตอร์เน็ตใดฝ่าฝืนก็ต้องสั่งปิด สำหรับร้านที่ปล่อยให้เด็กเข้าไปมั่วสุมหรืออาศัยอยู่ในร้านนั้น หากมีเจ้าทุกข์ร้องเรียนเข้ามา เจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กได้

ขึ้นชื่อว่าปัญหาเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเด็กติดเกมหรือปัญหาใดๆ ก็ตาม ปัจจัยพื้นฐาน ที่จะช่วยแก้ปัญหาพวกเขาได้ คือครอบครัว ครอบครัวที่มีรากฐานแข็งแรงเท่านั้น จึง สามารถสร้างภูมิคุ้มให้เด็กได้ เรื่องของเกมนั้นอย่าคิดว่าเป็นแค่เรื่องเด็กๆ หากปล่อยให้ปัญหาทอดเวลาออกไป เกมจะไม่เป็นแค่เกมอีกต่อไป



ยังไม่มีคำวิจารณ์ สำหรับ บทความนี้

คนตั้ง  : 
อีเมล์ :
คำวิจารณ์  : 
ยืนยัน
   
วันที่ตั้งกระทู้  : 
28-03-2024


เวป หางาน ค้นหางาน ตำแหน่งงาน พนักงาน ejobonline.com